สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

มาตรา 454  การที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งให้คำมั่นไว้ก่อนว่าจะซื้อหรือขายนั้น จะมีผลเป็นการซื้อขายต่อเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งได้บอกกล่าวความจำนงว่าจะทำการซื้อขายนั้นให้สำเร็จตลอดไป และคำบอกกล่าวเช่นนั้นได้ไปถึงบุคคลผู้ให้คำมั่นแล้ว

 

วรรคสอง ถ้าในคำมั่นมิได้กำหนดเวลาไว้เพื่อการบอกกล่าวเช่นนั้นไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้ให้คำมั่นจะกำหนดเวลาพอสมควร และบอกกล่าวไปยังคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งให้ตอบมาเป็นแน่นอนภายในเวลากำหนดนั้นก็ได้ ว่าจะทำการซื้อขายให้สำเร็จตลอดไปหรือไม่ ถ้าและไม่ตอบเป็นแน่นอนภายในกำหนดเวลานั้นไซร้ คำมั่นซึ่งได้ให้ไว้ก่อนนั้นก็เป็นอันไร้ผล

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5510/2542 สัญญาเช่าที่ดินระหว่างบริษัท ร. กับโจทก์กำหนดว่า ในระหว่างอายุสัญญาเช่าถ้าผู้เช่า (โจทก์) มีความประสงค์จะซื้อทรัพย์สินที่เช่า ผู้ให้เช่ายินยอมขายทรัพย์สินที่ให้เช่าให้ผู้เช่าหรือบุคคลที่ผู้เช่าระบุเป็นผู้ซื้อในราคาตามวิธีคำนวณที่กำหนดไว้ต่อท้ายสัญญานั้นเป็นคำมั่นในการซื้อขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 454 วรรคแรก ซึ่งผู้ให้เช่าได้กำหนดเวลาให้ผู้เช่าบอกกล่าวความจำนงในการซื้อไว้เป็นการแน่นอนแล้ว ผู้ให้เช่าจึงถอนคำมั่นก่อนเวลาที่ระบุไว้ไม่ได้ ทั้งได้กำหนดราคาซื้อขายที่ดินไว้แน่นอนตามอัตราการเพิ่มมูลค่าของราคาที่ดินนั้นแต่ละปีจากราคาที่ดินที่ผู้ให้เช่าซื้อมา เมื่ออัตราค่าเช่าที่ดินกำหนดไว้ปีละ 9,176,620 บาท หากเช่าครบกำหนด 60 ปี จะเป็นจำนวนเงินถึง 550,597,200 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินสูงมาก อาจเท่าหรือสูงกว่าราคาที่ดินที่เช่า สัญญาเช่าดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาเช่าตามปกติธรรมดาเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นสัญญาเช่าที่รวมถึงสิทธิที่จะซื้อที่ดินที่เช่าไว้ด้วย การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยนำค่าเช่าจำนวนดังกล่าวเป็นฐานในการกำหนดค่ารายปีของที่ดินต่อเนื่องและโรงเรือนของโจทก์ จึงเป็นการไม่ชอบ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2192/2541 ตามสัญญาเช่าที่ดินระหว่างบริษัท ร. กับโจทก์กำหนดไว้ว่าในระหว่างอายุสัญญาเช่า ถ้าโจทก์ประสงค์จะซื้อทรัพย์สินที่เช่า ผู้ให้เช่ายินยอมขายให้โจทก์ในราคาตามวิธีคำนวณที่กำหนดไว้ต่อท้ายสัญญานั้น ข้อตกลงดังกล่าวเป็นคำมั่นในการซื้อขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 454 วรรคแรก ซึ่งผู้ให้เช่าได้กำหนดเวลาให้ผู้เช่าบอกกล่าวความจำนงในการซื้อไว้เป็นการแน่นอนแล้วผู้ให้เช่าจึงถอนคำมั่นก่อนกำหนดเวลาที่ระบุไว้ไม่ได้ทั้งได้กำหนดราคาซื้อขายที่ดินไว้แน่นอนตามอัตราการเพิ่มมูลค่าของราคาที่ดินนั้นแต่ละปีจากราคาที่ดินที่ผู้ให้เช่าได้ซื้อมาทั้งเมื่อพิจารณาอัตราค่าเช่าที่ดินหากเช่าครบกำหนด 30 ปี จะเป็นจำนวนเงินสูงมากอาจเท่าหรือสูงกว่าราคาที่ดินที่เช่า สัญญาเช่าดังกล่าวมิใช่เป็นเพียงสัญญาเช่าตามปกติธรรมดาแต่เพียงอย่างเดียวหากแต่เป็นสัญญาเช่าที่รวมค่าสิทธิที่จะซื้อที่ดินที่เช่าไว้ด้วยจึงมีอัตราค่าเช่าสูง การที่จำเลยนำค่าเช่าจำนวนดังกล่าวเป็นฐานในการกำหนดค่ารายปีของที่ดินต่อเนื่องและโรงเรือนของโจทก์จึงไม่ชอบ ค่ารายปีที่โจทก์ยื่นรายการเมื่อเปรียบเทียบแล้วจะสูงกว่าค่ารายปีของสถานีบริการน้ำมันในเขตดังกล่าว ค่ารายปีที่โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการจึงชอบแล้ว หลักฐานการได้รับเลขบ้านประจำสถานีบริการน้ำมัน ไม่ใช่หลักฐานแสดงวันเข้าอยู่หรือประกอบกิจการ การจดทะเบียนนิติบุคคลเป็นเพียงขั้นตอนเตรียมการประกอบกิจการและการจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มก็อาจจดทะเบียนก่อนวันเริ่มประกอบกิจการได้ สัญญาให้ใช้สิทธิดำเนินการสถานีบริการน้ำมันมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่1 เมษายน 2538 ซึ่งเป็นกำหนดเวลาแน่นอน รวมทั้งเป็นวันที่โจทก์เริ่มมีสิทธิได้รับค่าใช้สิทธิดำเนินการ ฟังได้ว่าสถานีบริการน้ำมันของโจทก์สร้างเมื่อเสร็จและสามารถเข้าอาศัยและทำประโยชน์ได้ในวันที่ 1 เมษายน 2538 จำเลยได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียดอกเบี้ยตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475มาตรา 39 วรรคสอง เฉพาะแต่ในกรณีที่จำเลยคืนเงินภาษีให้โจทก์ภายในกำหนดสามเดือนนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดเท่านั้น หลังจากนั้นไม่ได้รับการยกเว้น

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2755/2540 โจทก์และจำเลยทำสัญญาร่วมลงทุนดำเนินการขนส่งสินค้าและอุปกรณ์ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่ง ประเทศไทย โดยโจทก์ได้มอบยานพาหนะให้จำเลยควบคุมดูแลรักษาใช้งาน มีกำหนด 60 เดือน นับแต่วันส่งมอบ ยานพาหนะ ทั้งนี้โดยจำเลยต้องเสียค่าตอบแทนให้แก่โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ 2,400,000 บาท ตามสัญญาร่วม ลงทุนและรายละเอียดแนบท้ายสัญญา ต่อมาโจทก์และจำเลยได้แก้ไขสัญญาร่วมลงทุนดังกล่าว โดยโจทก์ตกลง ยินยอมให้ลดค่าตอบแทนลงเหลือเดือนละ 2,000,000 บาท ตั้งแต่งวดที่ 30 ประจำเดือนตุลาคม 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะครบกำหนดอายุสัญญา ซึ่งตามรายละเอียดแนบท้ายที่พิพาทข้อ 11.3 ว่าในกรณีที่จำเลยมีความประสงค์จะ เปลี่ยนแปลงสัญญาจากการร่วมลงทุนเป็นการซื้อ - ขาย เงินสดแทน จำเลยจะต้องชำระเงินค่าตอบแทนส่วนที่เหลือ ทั้งหมดจนวันสิ้นอายุสัญญาบวกมูลค่าคงเหลือของยานพาหนะที่ร่วมลงทุนเมื่อสิ้นอายุสัญญาตามข้อ 8.5 นอกจากนี้แล้วสัญญาข้อ 8.6 ซึ่งระบุว่า ในกรณีที่จำเลยมีความประสงค์จะซื้อหรือไม่ซื้อยานพาหนะตามมูลค่าที่ได้กำหนดไว้ในข้อ 8.5 จำเลยจะต้องแจ้งความจำนงเป็นลายลักษณ์อักษรให้โจทก์ทราบไม่น้อยกว่า 90 วัน ก่อนวันสิ้นอายุสัญญา และสัญญาข้อ 8.7 ระบุว่า ในกรณีที่จำเลยตกลงจะซื้อยานพาหนะทั้งหมดหรือบางส่วนตามข้อ 8.5 จำเลยจะต้องชำระเงินให้แก่โจทก์ภายในระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับใบแจ้งหนี้จากโจทก์ ถ้าจำเลยผิดนัดไม่ชำระราคาของ ยานพาหนะดังกล่าวภายในกำหนด ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ จำเลยยินยอมชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี นับแต่วันที่ผิดนัดเป็นต้นไปจนถึงวันที่โจทก์ได้รับการชำระเงิน เมื่อไม่ปรากฏว่ามีข้อสัญญาให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเป็นเหตุให้โจทก์ไม่ยอมขายยานพาหนะที่จำเลยได้แจ้งความจำนงเป็นลายลักษณ์อักษรตกลงจะซื้อจากโจทก์แต่อย่างใดเลยจึงต้องถือว่าโจทก์ได้ให้คำมั่นว่าจะขายยานพาหนะพิพาทให้จำเลยเมื่อจำเลยแจ้งความจำนงเป็นลายลักษณ์อักษรให้โจทก์ทราบไม่น้อยกว่า 90 วัน ก่อนวันสิ้นอายุสัญญาร่วมลงทุน โดยจำเลยต้องชำระเงินค่าตอบแทนส่วนที่เหลือทั้งหมด จนถึงวันสิ้นอายุสัญญาบวกมูลค่าคงเหลือของยานพาหนะที่ร่วมลงทุนเมื่อสิ้นอายุสัญญาตามข้อ 8.5 เป็นราคาของ ยานพาหนะพิพาทให้แก่โจทก์ การที่จำเลยได้มีหนังสือถึงโจทก์แจ้งเปลี่ยนแปลงสัญญาร่วมลงทุนเป็นการซื้อขาย อันเป็นการแจ้งแก่โจทก์เช่นนั้นก่อนวันสิ้นอายุสัญญาร่วมลงทุนไม่น้อยกว่า 90 วัน แล้ว สัญญาซื้อขายยานพาหนะพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเกิดขึ้นทันทีที่คำบอกกล่าวนั้นไปถึงโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 454 วรรคหนึ่ง และเมื่อสัญญาซื้อขายยานพาหนะพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยเกิดขึ้นเช่นนี้แล้ว กรรมสิทธิ์ในยานพาหนะพิพาททั้งหมดย่อมโอนไปยังจำเลยผู้ซื้อตั้งแต่ขณะที่เกิดสัญญาซื้อขายนั้นขึ้นจากการที่โจทก์ได้รับคำบอกกล่าวแสดงความจำนงจะซื้อยานพาหนะพิพาทของจำเลยตาม ป.พ.พ มาตรา 458 แล้ว